คำขวัญจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
“ ราชธานีเก่า อู่ข้าวอู่น้ำ
เลิศล้ำกานท์กวี คนดีศรีอยุธยา ”
ประวัติความเป็นมา
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นอดีตราชธานีของไทยมีหลักฐานของการเป็นเมืองในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ประมาณ พุทธศตวรรษที่ 16 - 18 โดยมีร่องรอยของที่ตั้งเมือง โบราณสถาน โบราณวัตถุ และเรื่องราวเหตุการณ์ในลักษณะตำนานพงศาวดาร ไปจนถึงหลักศิลาจารึก ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานร่วมสมัยที่ใกล้เคียงเหตุการณ์มากที่สุด ซึ่งเมืองอโยธยาหรืออโยธยาศรีรามเทพนคร หรือเมืองพระราม มีที่ตั้งอยู่บริเวณด้านตะวันออกของเกาะเมืองอยุธยา มีบ้านเมืองที่มีความเจริญทางการเมือง การปกครอง และมีวัฒนธรรมที่รุ่งเรืองแห่งหนึ่ง มีการใช้กฎหมายในการปกครองบ้านเมือง 3 ฉบับ คือ พระอัยการลักษณะเบ็ดเสร็จ พระอัยการลักษณะทาส พระอัยการลักษณะกู้หนี้
⧪⧪⧪⧪⧪⧪⧪⧪⧪⧪⧪⧪⧪⧪⧪⧪⧪⧪⧪⧪⧪⧪⧪⧪⧪⧪⧪⧪⧪⧪⧪⧪⧪⧪⧪⧪⧪⧪⧪⧪⧪⧪⧪⧪
สถานที่ท่องเที่ยว (TOURIST ATTRACTIONS)
“ วัดไชยวัฒนาราม "
ที่อยู่ : ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา
วัดไชยวัฒนารามบางครั้งเรียกว่า “วัดไชยยาราม” และ “วัดไชยชนะทาราม”เป็นพระอารามหลวงในสมัยอยุธยา ซึ่งเป็นวัดที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง โปรดให้สถาปนาขึ้นเป็นวัดอรัญวาศรี ณ บริเวณที่ดินซึ่งเป็นนิวาสสถานของพระราชชนนีในปีที่ขึ้นครองราชย์ คือปีมะเมีย พ.ศ.2173 สันนิษฐานว่าเป็นวัดประจำรัชกาลด้วยต่อมาในรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้ใช้วัดนี้ในฐานะเป็นวัดฝ่ายอรัญวาสี สำหรับพระราชทานเพลิงศพของพระราชวงศ์และขุนนางผู้สูงศักดิ์
“ วัดมหาธาตุ "
ที่อยู่ : ต.ท่าวาสุกรี อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา
วัดมหาธาตุ สร้างในสมัยของสมเด็จพระราเมศวร เมื่อ พ.ศ. 1927 ลักษณะสถาปัตยกรรมของพระมหาธาตุ (ปรางค์) เป็นแบบแรกของสมัยอยุธยา ซึ่งมีอิทธิพลของขอม ชั้นล่างก่อสร้างด้วยศิลาแลง แต่ที่เสริมใหม่ปัจจุบันเป็นอิฐปูน สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ได้ปฏิสังขรณ์พระปรางค์ใหม่โดย โดยเสริมให้สูงกว่าเดิม แต่ขณะนี้ยอดพังลงมาเหลือเพียงชั้นมุขเท่านั้น เมื่อ พ.ศ. 2499 กรมศิลปากรได้ขุดแต่งพระปรางค์แห่งนี้ ได้ของโบราณหลายชิ้น ที่สำคัญคือผอบศิลา ภายในมีสถูป 7 ชั้น แบ่งออกเป็น ชิน เงิน นาก ไม้ดำ ไม้จันทร์แดง แก้วโกเมนและทองคำ
“ วัดพนัญเชิงวรวิหาร "
ที่อยู่ : ริมแม่น้ำป่าสักทางด้านทิศใต้ ฝั่งตรงข้ามของเกาะเมือง อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา
วัดพนัญเชิงวรวิหาร เป็นวัดที่พระเจ้าสายน้ำผึ้งสร้างขึ้นในปีพ.ศ 1867 ตรงที่พระราชทานเพลิงศพพระนางสร้อยดอกหมาก หลวงพ่อโตเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปามารวิชัยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยหน้าตักกว้าง 20.17 เมตร สูง 19 เมตร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ให้บูรณะใหม่ทั้งองค์ พร้อมถวายพระนามว่า "พระพุทธไตรรัตนายก" หลวงพ่อโตประดิษฐานในวิหารทรงสี่เหลี่ยมจตุรัสภายในมีเสากลมขนาดใหญ่ ที่หัวเสาปั้นปูนเป็นกลีบบัว เรียกว่า บัวกลุ่ม
“ วัดใหญ่ชัยมงคล "
ที่อยู่ : ริมถนนทางหลวงหมายเลข 3059 อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา
วัดใหญ่ชัยมงคล สันนิษฐานว่าเมื่อ พ.ศ. 1900 พระเจ้าอู่ทองทรงสร้าง วัดป่าแก้ว ขึ้นตรงที่พระราชทานเพลิงศพ เจ้าแก้วเจ้าไท ในการสร้างวัดป่าแก้วได้ทรงสร้างพระเจดีย์ขึ้นคู่กับพระวิหาร ต่อมา พ.ศ. 2135 สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงเสริมพระเจดีย์ให้ใหญ่และสูงขึ้นพร้อมๆกับการ สร้างเจดีย์ยุทธหัตถีที่ตำบลหนองสาหร่ายจังหวัดสุพรรณบุรี พระราชทานนามวัดเสียใหม่ว่า วัดชัยมงคล ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดใหญ่ชัยมงคล
“ วัดมงคลบพิตร "
ที่อยู่ : อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา
พระมงคลบพิตร เป็นพระพุทธรูปบุสัมฤทธิ์องค์ใหญ่องค์หนึ่งในประเทศไทย ครั้นถึงแผ่นดินของสมเด็จพระเจ้าเสือ ยอดมณฑปเกิดไฟไหม้เพราะอสนีบาตทำให้ส่วนบนขององค์พระมงคลบพิตรเสียหาย จึงโปรดให้ก่อสร้างใหม่ แปลงเป็นพระวิหารแทน เมื่อเสียกรุงครั้งที่ 2 วิหารพระมงคลบพิตรได้ถูกไฟไหม้ พระวิหารและองค์พระพุทธรูปได้รับการปฏิสังขรณ์ใหม่ บริเวณข้างวิหารพระมงคลบพิตรทางด้านทิศตะวันออก เดิมเป็นสนามหลวง ใช้เป็นที่สำหรับสร้างพระเมรุพระบรมศพของพระมหากษัตริย์และเจ้านายเช่นเดียวกับท้องสนามหลวงของกรุงเทพฯ